รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาส
ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน: ครบรอบ ๒๕ ปี
โดย ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรี
คัดจากวารสารเอเชียปริทัศน์ ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒
ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๔๓

ฯพณฯ ท่านฟู่เสวียจัง เอกอักรราชทูตจีนประจำประเทศไทย
รศ. ดร. สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ท่าน ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี
บรรดานักวิชาการ ทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทย
และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ก่อนอื่นผมต้องประทานโทษ ผมนึกว่างานนี้จะเริ่ม ๙ โมงเช้า ผมก็มาถึงก่อน ๙ โมงเช้าเล็กน้อย แต่งานเริ่มตั้งแต่ ๘ โมงครึ่ง ฉะนั้น ถ้าผมทำให้ท่านทั้งหลายต้องนั่งคอย ผมต้องขอประทานโทษ และเรื่องที่สอง ถ้าหากการพูดวันนี้มีการเอ่ยถึงบุคคลบางท่าน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็อยากขอให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่า ผมไม่มีเจตนาที่จะพูดอะไรในทางไม่ดี แต่เมื่อมาพูดที่สถาบันการศึกษา หรือศูนย์การศึกษาประเภทนี้ ผมรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะต้องพูดความจริง ถึงแม้ความจริงนั้นอาจจะเป็นความจริงที่ฟังแสลงหูบ้าง แต่ผมคิดว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ ในเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป ประการที่สาม เวลาพูดถึงเรื่องวันเวลา ผมต้องขอประทานโทษ ผมจะให้คริสต์ศักราชแทนที่จะเป็นพุทธศักราช ไม่เช่นนั้นคนแปลจะแปลลำบาก และผมเองก็งงเหมือนกัน เพราะว่าบางครั้งบางคราวในชีวิตราชการที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศนั้นเราจะคิดเรื่องของ ค.ศ. มากกว่า

วันนี้ ผมไม่ได้คิดว่า ผมจะมาให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม หรือข้อมูลที่ลึกซึ้งอะไรพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ในเมื่อหัวข้อเรื่องให้มองทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผมคิดว่ามีหลายอย่างในอดีตที่ยังไม่ได้รับการบันทึกเป็นตัวอักษรหรือได้รับการเล่าสู่กันฟัง ผมมองในระยะ ๒๕ ปีที่ผ่านมา ผมก็มีโอกาสได้พูดเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีนหลายครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะพูดในลักษณะที่ไม่มี text คือ พูดปากเปล่า และครั้งเดียวเท่านั้นที่เคยพูดในลักษณะที่ต้องขอให้มีบทความ คือไปพูดบนเวทีที่เขาเรียกว่า “Direk Jayanam Lecture Series” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อประมาณ ๑๔-๑๕ ปีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันผมจำไม่ได้ว่าผมพูดว่าอะไร ถ้าจะย้อนกลับไปอีกก็ต้องไปถามหาว่าสมัยนั้นพูดว่ายังไง แต่อันนั้นเป็นการพูดในลักษณะสอนครั้งแรก

เมื่อคืนท่านเอกอัครราชทูตจีนท่านกรุณาเลี้ยงคณะผู้แทนไทยที่จะไปเยือนจีนในวันที่ ๒๘ นี้ ในระหว่างที่อยู่ในโต๊ะนั้นก็มีการสนทนาถึงเรื่องเก่า ท่าเอกอัครราชทูตจีนกล่าวกับผมว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเล่าในค่ำวันนั้น เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมเองอยู่กับปัญหาจีน-ไทย หรือสัมพันธภาพจีน-ไทยมาเป็นเวลาช้านาน หลายสิ่งหลายอย่างก็ได้ยินได้เห็นและตัวเองก็พูดมาแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อมานึกดูแล้วเด็กรุ่นใหม่ คำว่า “เด็กรุ่นใหม่” ก็อาจจะหมายถึงว่า อายุต่ำกว่า ๔๐ ลงไป หรือแม้แต่ต่ำกว่า ๔๕ ลงไป ก็อาจจะยังไม่ให้ความสนใจ หรือถ้าสนใจก็คงไม่ได้ทราบถึงปัจจัย หรือหยั่งถึงปัญหาต่าง ๆ ในขณะนั้นทั้งที่ไทยและจีนกำลังเผชิญอยู่ ฉะนั้นผมมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟังมาก เช้าวันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะให้เวลาผมสักเท่าไร ผมอยากจะเล่าเกร็ดอะไรบางอย่าง ท่านทูตบอกผมเมื่อคืนว่าผมควรจะเขียนหนังสือ ผมบอกแหมผมเป็นคนเขียนไม่ค่อยเป็น พูดน่ะพูดได้ แต่มาเช้าวันนี้พอมาพูดก็ต้องเตือนตัวเองเหมือนกันว่า ปัจจุบันอายุเราก็ไม่ใช่น้อยแล้ว ที่พูดไปก็พูดจากความจำทั้งนั้น มันอาจจะเป็นไปได้ว่า การพูดเช้าวันนี้หรือในโอกาสต่อ ๆ ไป ข้อเท็จจริงเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะคลาดเคลื่อนได้ อันนี้ผมขออภัยด้วย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่อยากศึกษาเรื่องนี้ ก็ขอให้ฟังคำบรรยายของผม ในลักษณะเป็นเกร็ดที่เสริมประวัติศาสตร์ หรือเสริมการศึกษาประเด็นสัมพันธภาพระหว่างไทยกับจีนก็แล้วกัน

ผมอยากจะเริ่มต้นว่า เวลาเราพูดถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนนั้น เราเพ่งเล็งแต่ความสัมพันธ์ที่อยู่ในระดับราชการ ทว่าจริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนจีนนั้น มันไมได้เริ่มต้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มันเริ่มมาตั้งแต่สมัย ๓ - ๔ ชั่วคนของตัวเราเอง เป็นเวลาหลายร้อยปี หรือถ้าเผื่อเรามองประวัติศาสตร์ที่ว่าคนไทยที่มาตั้งรกรากอยู่ที่แหลมทองนี้มาจากจีนทางใต้แล้ว ความสัมพันธ์ในทางสายเลือดก็ดี ความสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์ก็ดี ในทางวัฒนธรรมก็ดี ระหว่างคนไทยกัยคนจีนนั้นค่อนข้างจะยาวนานและลึกซึ้งมาก ตั้งแต่เล็ก ๆ เราก็จะได้ยินแต่คำว่า “จีน-ไทย ไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ตลอดเวลาไม่รู้ว่ากี่ร้อยปี ตั้งแต่ลมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ก็เป็นความสัมพันธ์ฉันพี่น้องจริง ๆ มีการติดต่อทางด้านการค้า มีทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มันเกิดความจำเป็นทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ที่พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นรัฐบาลบริหารงานอยู่ที่ผืนแผ่นดินจีน ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาอำนาจ เป็นผู้ชนะสงคราม แล้วก็ตอนนั้นก็มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมา แต่ก่อนหน้านั้นที่ยัลตานั้นผู้นำทางฝ่ายอเมริกา รัสเซีย และอังกฤษ ก็ตกลงกันแล้วว่าจีนนั้นเป็นจีนเดียว มีประเทศเดียว และไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน อันนี้ย้อนหลังไปถึงความตกลงที่ยัลตา ซึ่งผมจะกลับมาพูดเรื่องปัญหาจีนเดียวกับเรื่องไต้หวันทีหลัง ไทยเราก็ถือว่าเป็นประเทศที่แพ้สงคราม และเมื่อเราอยากจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องต่อรองกัน เราไม่ค่อยมีปัญหากับอเมริกา จริง ๆ แล้วเราไม่มีปัญหากับอเมริกา กับอังกฤษมีปัญหาบ้าง แต่ก็ได้มีการตกลงเรียบร้อยแล้วก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ กับรัสเซียนั่นก็มีปัญหาว่าจะต้องเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกัน กับจีนไต้หวันก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่จีนไต้หวันสมัยนี้ หมายถึงจีนที่ยังคงอยู่ที่ผืนแผ่นดีนใหญ่อยู่ ก็เป็นเงื่อนไขที่เราต้องยอมทำตามที่ว่าเราจะต้องมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนในขณะนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็จะเปิดสถานทูตหรือสถานเอกอัครราชทูตซึ่งกันและกัน ฉะนั้น หลังสงครามใหม่ ๆ เราก็มีคณะทูตของจีนอยู่ที่เมืองไทนแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีพรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงครามกลางเมืองต้องไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน แล้วก็มีรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่งขึ้นมาแทน ฉะนั้น ความสัมพันธ์ทางการทูตที่สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนเข้าสหประชาชาติ มันก็ตกทอดต่อไปจนไปถึงรัฐบาลจีนที่อยู่ที่ไต้หวัน ตอนแรก ๆ ก็ไม่ใช่ว่ามีปัญหาอะไรมากมาย ก็เพียงแต่ว่าเรารับรองไต้หวันว่าเป็นรัฐบาลจีน แต่เราก็ไม่ได้เป็นอริอะไรกับรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักกิ่ง เพียงแต่ว่าไม่มีการติดต่อที่เป็นทางการเท่านั้น แต่ระยะนั้นเป็นระยะที่ทมีทั้งสงครามเกาหลี มีความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างอเมริกากับจีน และมีสงครามเย็น ต่อมายิ่งมีปัญหามากขึ้นคือยังมีปัญหาเวียดนาม มีการสู้รบสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น Proxy War (สงครามตัวแทน) โดยเวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากจีนคอมมิวนิสต์ เวียดนามใต้ได้รับการสนันสนุนจากอเมริกา และมีพันธมิตรอีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำสงคราม เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ และเนื่องจากการที่โลกเราแบ่งออกเป็นหลายขั้ว โดยเฉพาะขั้วที่เรียกว่าค่ายเสรีนิยม กับค่ายคอมมิวนิสต์ สมัยนั้นจีนกับสหภาพโซเวียตก็ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันอยู่ เพราะฉะนั้นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันก็ค่อนข้างที่จะเป็นเกมที่รุนแรง แต่ต่อมาเมื่อจีนเข้าไปเป็นตัวแทนของจีนที่แท้จริงในสหประชาชาติได้ มีผลทำให้ตัวแทนของจีนไต้หวันต้องออกจากสหประชาชาติไป นับวันก็มีประเทศสมาชิกรับรองประเทศจีนที่ปักกิ่งมากขึ้น ๆ ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ. ๑๙๗๑ ในเมืองไทยเองหลังจากมีรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากระบอบการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน แล้วก็มีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๙๗๓ หลังจากนั้นเราก็มีรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญสนามม้า” ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างจะเป็นเสรีนิยมหน่อย แล้วก็มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย มีท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นนายกรัฐมนตรี มีคุณชาติชาย ชุณหะวัณ (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ตอนนั้นผมก็ยังเป็นทูตอยู่ที่สหประชาชาติ และเป็นทูตอยู่ที่วอชิงตันควบคู่กันไป

ช่วงก่อนหน้านั้นประมาณ ๑๐ ปี เหตุการณ์ในเอเชีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น สงครามเวียดนามก็ถึงขั้นที่ว่าทหารอเมริกันไปตายที่เวียดนาม ๕ หมื่นกว่าคน มีทหารอเมริกันประจำอยู่ที่เมืองไทย มีสนามบินของอเมริกาอยู่ที่เมืองไทย ๕ - ๖ แห่ง มีสถานีดักฟังวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรามสูร ที่จังหวัดอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นสถานีดักฟังที่เชียงใหม่ ดังนั้นอิทธิพลของอเมริกาในไทยมีเต็มไปหมด มันคงเป็นเรื่องที่จดจำในประวัติศาสตร์ว่าในครั้งนั้นรัฐบาลไทยโดยเฉพาะรัฐบาลที่เรียกได้ว่าทหารเป็นผู้ควบคุม ก็มีความเอนเอียงมองเห็นจีนเป็นศัตรู ก็เชื่อไปตามที่อ่านหนังสือพิมพ์หรืออ่านข่าวของทางตะวันตกว่า “จีนเป็นปีศาจผิวเหลือง” และ “เวียดนามนั้นต้องการจะบุกยึดดินแดนอีสาน ๑๖ จังหวัด” พวก ๑๔ ตุลา (๑๙๗๓) นักเรียนก็หัวซ้าย ตอนนั้นในเมืองไทยก็มีลักษณะเหมือนสมัยแมคคาร์ที พีเรียด (McCarthy Period) ในอเมริกาเหมือนกัน มีการแบ่งขั้วกันมาก และเวลามองหน้ากันก็ไม่ได้มองว่าเป็นคนไทย แต่มองว่าเป็นไอ้นี่ขวา ไอ้นี่ซ้าย และในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมที่เชื่อว่าข่าวลือหรือชอบฟังข่าวที่เขากุข่าวขึ้นมา คือ เชื่อง่าย ก็ทำให้อารมณ์ของคนไทยในระยะนั้นหวั่นไหวง่าย และประกอบกับเวียดนามเหนือก็มีกำลังวังชาพอที่จะตีเวียดนามใต้แตกไป ประชาชนอเมริกันและรัฐบาลอเมริกันก็เบื่อหน่ายต่อสงคราม ก็พยายามทุกทางที่จะผลักตัวเองออกจากการสู้รบในเวียดนาม ไม่ว่าจะตอนที่ ดร. คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ไปทำการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเวียดนามที่ปารีสก็ดี ก็เป็นการไปทำสัญญาเพื่อหาทางให้อเมริกาหลุดจากพันธกรณีที่ตนเองมีกับเวียดนามใต้อย่างค่อนข้างจะสง่างาม อันนั้นเป็นความหวังของเขา แต่สุดท้ายอเมริกาก็ไม่สามารถออกจากเวียดนามด้วยความสง่างามได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นปัญหาระดับชาติ และระดับส่วนตัวมาก ว่าใครหักหลังใครอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น เสร็จแล้วเวียดนามก็แผ่อิทธิพลมาทางเขมร ทางกัมพูชา สมัยนั้นเราก็สนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวาของกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นลอนนอลหรือใคร และแล้วเขรมแดงก็เข้ามาครอบครอง ในลาวเองอิทธิพลของเวียดนามก็เข้ามามาก พรรคคอมมิวนิสต์ของลาวจะเป็นท่านไกสอนหรือใครก็ดี ก็เข้ามาครอบครอง เพราะฉะนั้นคนไทยที่อยู่ในเมืองไทยในขณะนั้นก็มีความตื่นตระหนกมากว่า คอมมิวนิสต์กำลังบุกรุกเข้ามาถึงติดบ้านเรา ติดรั้วเราแล้ว และทุกอย่างก็มองเห็นผ่านสายตาของคนอเมริกัน มองเป็นเรื่องขาว-ดำ และมองเป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์-ไม่คอมมิวนิสต์ตลอดอันนี้เป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่เรารับฟังแต่ฝ่ายอเมริกาอย่างเดียว และจริงอยู่ ที่ทางจีนเองก็มีบทบาทที่ไม่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลไทย และหลายแง่หลายมุมก็แสดงบทบาทที่ไม่เป็นมิตรกับเมืองไทย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ของลาวในการสู้รบที่แถวอีสาน หรือในการให้กำลังใจ ให้ moral support ต่าง ๆ สถานีวิทยุของจีนก็โฆษณาชวนเชื่อว่า เมืองไทยสมัยก่อนเรียกว่าเป็น lackey (สมุน) ของ U.S. Imperialism (จักรวรรดินิยมอเมริกา) เป็น reactionary (ปฏิกิริยา) สมัยนั้นแม้แต่คนที่เคยได้ไปเรียนอังกฤษมา ก็จะได้รับความรู้ใหม่ว่ามีภาษาอังกฤษคำใหม่ ๆ อีกมากมายคำภาษาอังกฤษซึ่งสมัยเราเรียนหนังสืออยู่เราไม่เคยได้ยิน แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ vocabulary (ศัพท์) ทางรัฐศาสตร์ ภาคปฏิบัตินะครับ ที่อยู่ใน field ของภาคปฏิบัติเอง สมัยนั้นเวลาเรามองย้อนหลังไปแล้วก็รู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า "วิตกจริต" เราก็ต้องรับรู้อย่างหนึ่งว่าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ กระบอกเสียงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลอเมริกา ของไทย หรือจีนเองนั้น พอเราพูดไปนาน ๆ แล้ว เราอาจจะแต่งเรื่องมา แต่งไปแต่งมา เราเชื่อเอง มันก็เป็นจิตวิทยา เวลามองเมื่อ ๒๕ ปี ที่แล้วหรือก่อนหน้านั้นเราต้องคำนึงถึงก่อนข้อหนึ่งว่า บุคคลรุ่นผมก็ดีหรือบุคคลรุ่นก่อนหน้าผม ที่มีส่วนในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นในตอนนั้นเขา operate (ปฏิบัติการ) อยู่ในวงกรอบอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไร และวงกรอบนั้นหรือภายใต้เงื่อนไขที่เรากำหนดขึ้นมาเอง แต่เป็นเงื่อนไขที่มหาอำนาจเขากำหนดไว้ ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทของนโยบายของอเมริกาก็ดี หรือของจีนก็ดี หรือของสหภาพโซเวียตก็ดี เพราะฉะนั้นเราจะต้องคำนึงถึงว่าเมื่อ ๒๕ - ๓๐ ปีที่แล้วนั้น เป็นการแย่งชิงอำนาจแย่งชิงอิทธิพลที่ตัวเองจะมีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนั้นมันมีอำนาจ ๓ ขั้ว เพราะตอนนั้นจีนก็แตกกับรัสเซียแล้ว จึงเป็นอำนาจของสหรัฐอเมริกา แล้วก็จีน แล้วก็สหภาพโซเวียต ฉะนั้น สิ่งแรกที่จีนต้องการในขณะนั้นคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้อิทธิพลของอเมริกานั้นพ้นไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของกองกำลังทหารที่อยู่ในภูมิภาคนี้

ตอนที่เวียดนามแตกไปนั้น กองกำลังทหารก็อยู่ที่เมืองไทย เราอย่าลืมนะครับว่า เรามีทหารอเมริกันอยู่ในเมืองไทยเป็นหมื่น ๆ คน แต่ไม่ใช่มีพวกกองกำลังอย่างเดียว แต่ยังมี facility (สิ่งอำนวยความสะดวก) ต่าง ๆ ซึ่งในแง่ของจีน เขามองว่าเป็นสถาบันหรือสำนักงานที่ไม่เป็นมิตรกับจีนนัก และไม่เป็นมิตรกับเวียดนาม ซึ่งขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับจีนด้วย ในแง่ของเรา เราก็มองจีนในแง่ไม่ดีว่ามาแทรกแซงกิจการภายในของเรา ยังจำได้ถึงตอนที่ผมไปที่คุนหมิงเมื่อ ๓ - ๔ เดือน ก็ไปเจอท่านอธิบดีคนหนึ่ง ผมก็ไม่เคยพูดกับท่าน แต่ผมก็ได้รับทราบว่า ท่านผู้นั้นภาษาไทยเก่งมากเรียนภาษาไทยที่ปักกิ่งรุ่นเดียวกับนายจัง กับนายหลิว หลิวซึ่งขณะนี้เป็นกงสุลจีนอยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนจังนั้นเป็นอธิบดีกรมเอเชีย ผมก็ถามว่าเรียนภาษาไทยมาพร้อมกันหรือ? ทำไมไม่ไปอยู่กระทรวงต่างประเทศล่ะ? เขาบอกว่าในสมัยนั้นในจีน เจ้านายเขาชี้บอกให้ไปเรียนภาษาไทยก็ไปเรียนภาษาไทย พอเรียนจบเขาบอกว่าคนนี้ไปทำงานที่นั่น คนนั้นไปทำงานที่นี่ เราก็ต้องไป ตัวเขานั้น นายบอกว่าให้ไปทำงานที่คุนหมิง ส่วนนายจังกับนายหลิว เจ้านายให้ไปเข้ากระทรวงต่างประเทศก็แล้วแต่ว่าเบื้องบนจะสั่งว่ายังไง เหตุการณ์มันก็ผันแปรไป เขาเองจะเป็นคนเขียนบทความด้วยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าหากเราได้ฟังวิทยุจีนสมัยนั้นภาคภาษาไทยที่ด่าเมืองไทยตลอดเวลา ก็คนนี้แหละครับ ปัจจุบัน ๒๕ ปีให้หลังเรามาพบกับเขา ก็คุยกันสนิทสนมพูดจาเรียบร้อย ภาษาไทยดีมาก แต่ไม่อยากจะกระทบกระเทือนจิตใจเขา ก็ไม่อยากจะถามเขาว่าสมัยนั้นเขารู้สึกอย่างไร และเขาเองผมก็คิดว่า เขาก็คงไม่อยากจะพูดถึงมัน มันสื่อให้เห็นว่าคนเรานี้บางครั้งบางคราว พฤติกรรมของเรานี่มันไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น ผมยังจำได้ว่า ในเมืองไทยนี้ ที่จริงเราไม่อยากเป็นอริกับจีนมานานแล้ว เพียงแต่สมัยนั้นยังมีความสัมพันธ์กับทางไต้หวันอยู่ แม้แต่สมัยจอมพล ป. (จอมพลแปลก พิบูลสงคราม) ซึ่งใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นฝ่ายขวา เป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ยังมีการเริ่มส่งคนไปติดต่อ จะเป็นคุณสังข์ พัธโนทัย หรือจะเป็นใครต่อใครก็แล้วแต่ และผมก็จำได้สมัยจอมพลผิน จอมพลสฤษดิ์ ก็มีคนไทยไปมาหาสู่กันอย่างลับ ๆ สมัยนั้นเราคนไทยที่มีเชื้อสายจีนก็ส่งลูกไปเรียนที่เมืองจีนมากมาย และพอเรียนไปเรียนมาพอสงครามกลางเมือง ถึงคราวตัดสินกันเมื่อปี ๑๙๔๙–๕๐ รัฐบาลก๊กมินตั๋งต้องหนีไปอยู่ไต้หวัน พวกนั้นก็ต้องตกค้างอยู่ที่เมืองจีน พ่อแม่ยังอยู่ที่นี่ และหลายคนกลายเป็นคนจีน และมาเป็นล่ามอยู่ที่เมืองไทย เช่น หลีเม่าก็เกิดที่เมืองไทยและจบอัสสัมชัญด้วยซ้ำ ผมไปเวียดนามผมก็เห็นหลายคนจบธรรมศาสตร์ จบอะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างถ้าหากเราเป็นนักวิชาการหรือเป็นนักทฤษฎีแล้ว เวลาเรามองคน เรามองนิสัยคน เรามองนโยบายของคน หรือเรามองท่าทีคน เราต้องมองที่บริบทของเหตุการณ์ในขณะนั้นด้วย และเราอย่าไปคิดว่าคนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่ผมรู้ก็คือว่า ความวุ่นวาย ความสับสน หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศนั้น เป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ประชาชนมีบทบาทน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตยหรูหราของอเมริกา หรือว่าประชาชนในระบอบของยุโรป หรือประชาชนในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในสมัยนั้นของเมืองไทย

เราเริ่มจริงจังกับการติดต่อกับจีนเมื่อไร? สมัยก่อนปี ๑๙๗๕ ก่อน ๑ กรกฎาคม ๑๙๗๕ สมัยจอมพล ป. สมัยต่าง ๆ อะไรนั้น ผมว่ายังไม่จริงจังเท่าไร เรียกว่าเป็นการไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไว้อย่างกลัว ๆ แต่เราถึงสัจธรรมก็ตอนที่คิสซิงเจอร์เดินทางเงียบ ๆ ไปเมืองจีน ผ่านมาเมืองไทยก่อนแล้วก็ไปถึงปากีสถาน ตอนนั้นปากีสถานมีส่วนช่วยทำให้มีการติดต่อกันมาก ผมจำได้ว่าคิสซิงเจอร์ไปปากีสถานมีกำหนดการเยือนอยู่ ๔ วันหรือ ๕ วัน พอไปถึงวันแรกเขาก็เตี๊ยมกันว่า ให้จัดเลี้ยงงานใหญ่ ระหว่างงาน คิสซิงเจอร์คงจะได้รับรางวัลออสการ์สักวันหนึ่ง ก็คือว่า ทำว่าท้องเสียอย่างรุนแรงต้องกลับไปอยู่โฮเตล และ cancel (ยกเลิก) กิจกรรมต่อไปทั้ง ๒ วัน บอกว่าทานอาหารที่เป็นพิษไปไหนไม่ได้ ที่ไหนได้คืนนั้นดึก ๆ ก็วิ่งไปสนามบินแล้วก็บินจากปากีสถานไปจีน เขาต้องทำลึกลับมาก ทำไปโดยรู้แต่เพียงประธานาธิบดีของอเมริกาเท่านั้น ตอนนั้นคิสซิงเจอร์เป็น National Security Advisor (ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง) รัฐมนตรีต่างประเทศก็ไม่รู้ คนที่เขาเอาไปด้วยก็มีคนหรือสองคนเท่านั้น เข้าใจว่าวินสตัน ลอร์ด (Winston Lord) คนหนึ่งกับใครอีกคนหนึ่งผมจำไม่ได้ และเมื่อออกมาแล้วก็เงียบ ผมยังจำได้ปีนั้นเอง จอร์จ บุช (George Bush) เป็นเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้แทนถาวร ซึ่งผมก็เป็นอยู่ และตัวแทนของสหราชอาณาจักร คือของอังกฤษก็เป็นเพื่อนผม ชื่อ คอลิน โครว์ (Sir Colin Crowe) หลังจากนั้นมีข่าวว่าเราเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ช่วยต่อต้านจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ตามคำสั่งรัฐบาลเราต้องสนับสนุนให้ข้อมติที่จะให้ไต้หวันเป็นตัวแทนของคนจีนต่อไปในสหประชาชาติ ซึ่งเราทำมาทุกปี สิบกว่าปี หรือยี่สิบปี พันธมิตรเราก็มี อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไทย ในการประชุมสหประชาชาติปีนั้น (๑๙๗๑) คณะผู้แทนทั้งหลายก็ร่วมมือกันอีก ยกร่างข้อมติเตรียมเสนอหาเสียงในสหประชาชาติ ระหว่าที่ทำกันอยู่ก็มีข่าวออกมาว่า คิสซิงเจอร์ไปจีนแล้ว มีการติดต่อกันแล้ว วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาผมก็เห็น ตามปกติการที่จะได้เห็นตัวเองในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ New York Times มันไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเรามาจากประเทศเล็ก ปรากกว่าวันนั้น หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ New York Times รูปขนาดนี้นะครับ มีผม จอร์จ บุช และคอลิน โครว์ กำลังยืนอยู่ร่วมกัน อาจจะคุยกันเรื่องอะไรก็แล้วแต่ อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องจีนเลย แต่ใน caption (หัวข่าว) ก็เขียนว่า ๓ ประเทศที่สนับสนุนไต้หวันกำลังมีความกังวลมาก เพราะคิสซิงเจอร์ไปปักกิ่ง เขาก็เขียนไปเป็นตุเป็นตะก็สนุกดีไม่เป็นไร แต่ก็เป็นความจริง จอร์จ บุช ตอนนั้นก็ค่อนข้างจะผิดหวังมาก แล้วก็จะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา สังคมของสหรัฐอเมริกาซึ่งคล้ายสังคมไทย ถือขวา แล้วแบ่งขั้วเป็นศัตรูกันเลย ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย ตีกันจนลืมไปหมดว่าเป็นคนชาติเดียวกัน หรือเป็นคนชาติอะไรก็แล้วแต่ ก็น่าเห็นใจเพราะในตอนนั้นเขาก็ไม่สามารถทำอย่างเปิดเผยได้ เพราะถ้าเผื่อมีข่าวเล็ดลอดออกไปว่าคิสซิงเจอร์ไปจีน พรรค Republican ก็จะตกอยู่ในฐานะที่ลำบากที่สุด

หลังจากนั้นพอจีนเข้าสหประชาชาติเรียบร้อย (๑๙๗๑) ตอนนั้นรัฐบาลไทย ซึ่งเข้าใจว่าจอมพลถนอม (จอมพลถนอม กิตติขจร) ท่านเป็นนายกฯ ก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลชองทหารและพวกอนุรักษนิยมทั้งหลาย ท่านรัฐมาตรีถนัด (ถนัด คอมันตร์) ท่านมองเห็นการณ์ไกล ท่านก็สั่งผมเป็นการภายใน คือมันยังไม่ได้เป็นนโยบายรัฐบาล ให้เริ่มติดต่อกับจีน แล้วก็มีอะไรให้รายงานตรงกับท่าน ไม่ต้องผ่านสายงานกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผมรายงานตรงกับท่านเสมอ ซึ่งผมยังเสียดายจนทุกวันนี้ ไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศเก็บไว้หรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่ไหน ผมก็ไม่รู้ ก็เป็นการรายงานว่าได้มีการติดต่อพูดคุยกับผู้แทนจีนในงานสังคม แต่ก็ได้มีการเรียกว่า probing (หยั่งดูท่าที) กันหน่อย สมัยนั้นฝ่านจีนก็มีท่านทูตหวงหัว ซึ่งตอนนั้นผมบังเอิญยังไม่ได้เป็นทูตที่อเมริกา ผมเป็นทูตอยู่ที่แคนาดา ตอนนั้นปี ๑๙๗๑ ผมไปอยู่วอชิงตัน ๑๙๗๒ แล้วนอกจากนั้นผมก็อยู่ที่นิวยอร์กด้วย แล้วก็ได้พบกับหวงหัวที่แคนาดาด้วย แล้วก็ได้เป็นเพื่อนกันที่นิวยอร์กด้วย ก็ได้มีการพูดคุยกันต่าง ๆ ถัดมาพอรัฐบาลถนอมปฏิวัติตัวเอง ท่านรัฐมนตรีถนัดไม่ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว คุณชาติชายได้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีคุณจรูญพันธ์ (จรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ คุณชาติชายก็แบบนักการทูตสวิงสวายหน่อย เรียกว่า “การทูตชะชะช่า” ซึ่งก็เริ่มจับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยิ่งพอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้วยิ่งสนใจมากขึ้น แต่ว่าสมัยนั้น สมัยท่านนายกฯ ถนอมก็คงทำอะไรได้ไม่เท่าไร แต่พอมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจาก ๑๔ ตุลา (๑๙๗๓) มี “รัฐธรรมนูญสนามม้า” มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ฝ่ายพลเรือนก็มาอยู่ในรัฐบาล ตอนนั้นข่าวไม่ดีจากต่างประเทศก็มากจนกระทั่งอย่างที่ว่านะครับ ก็แตกต่างกันไป อันนี้อาจารย์เกษม (เกษม ศิริสัมพันธ์) เคยเขียนไว้บอกว่าวันหนึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็พูดกับคนที่สนิท ๆ คนที่เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีบอกว่า “เอ๊ะ… เห็นทีเราต้องจัดกระเป๋าไปปักกิ่งกันแล้ว” อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็เผอิญสอดคล้องกับสิ่งที่คุณชาติชายคิด คุณชาติชายนี่ผมว่าท่านมี Romantic idea เกี่ยวกับจีนด้วย คือไม่ใช่มองการณ์ไกลแบบที่ว่า geopolitic (ภูมิรัฐศาสตร์) ของภูมิภาคนี้มันเปลี่ยนไป แล้วไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่เราคิดว่าจีนไม่ดีอย่างนั้นจีนไม่ดีอย่างนี้ หรือเวียดนามไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ไอ้ความที่ว่าไม่ดีนะก็คงมี แต่หมายความว่ามันก็คงจะเลยเถิดไป อาจเพราะท่านเป็นคนไทยแต่ท่านก็มีเชื้อสายจีนด้วย ท่านยังเคยเล่าให้ผมฟังว่าท่านจำได้ว่า ชีวิตตอนเด็ก ๆ ที่อยู่ใน China Town นั้น ท่านจะจำได้ในสมัยจอมพลผิน จำได้ถึงพิธีกรรมทางด้านจีนที่ตระกูลท่านทำมาตลอด ซึ่งผมก็ยังแปลกใจเพราะผมก็เป็นคนจีน Generation ที่ ๓ แต่ผมไม่มีอะไรเลยที่เป็นจีน จำได้อย่างเดียวว่าตอนคุณยายผมเสียตอนนั้นมีกงเต๊ก จำได้แค่นั้นว่าเราเป็นจีน เพราะเราไม่ได้พูดจีน คุณแม่ก็ไม่พูดจีน คุณชาติชายก็ไม่ได้พูดจีนอะไร แต่อย่างน้อยรู้สึกว่าเป็นจีน หรือแบบท่านคึกฤทธิ์ก็เหมือนกัน ท่านก็ยังมีอะไรที่เป็นความพัวพันกับจีนอยู่ ท่านก็ยังถือธรรมเนียมจีน ตรุษจีนท่านก็ยังมีการไหว้เจ้าอยู่ แต่ที่บ้านคุณชาติชายก็ยังมีการไหว้เจ้าและทำแบบพิธีจีน ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ารัก ดังนั้น คุณชาติชายก็มีความพัวพันกับจีนทางจิตใจด้วย แล้วมันก็ขัดกัน เพราะตระกูลของท่านก็ขวาจัดเหลือเกิน ผมถึงพูดว่า บางทีเมืองไทยนี่มันแปลก บางทีอธิบายอะไรไม่ค่อยถูก เมืองไทยแบ่งออกเป็นสองค่ายหลังจาก ๑๔ ตุลา ความไม่พอใจพวกขบวนการนักเรียนก็ดี ความกลัวคอมมิวนิสต์ก็ดี ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันก็ดี มันทำให้มองแต่ละฝ่ายเป็นปีศาจ ไอ้พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นซ้ายอาจจะไม่ได้มองว่าพวกนี้เป็นปีศาจ แต่บอกว่าเป็นประสาทมากกว่า ผมก็โชคไม่ดี เพราะว่าสมัยอยู่สหประชาชาติตอนนั้น ก่อนทำเรื่องจีนด้วยซ้ำ ตอนนั้นแม้แต่รัฐบาลถนอมท่านก็สั่งให้เจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮังการี เริ่มต้นจากกับยูโกสลาเวียกับฮังการี กับบัลแกเรีย ผมเป็นทูตอยู่ที่นิวยอร์ก รัฐบาลสั่งมาก็ต้องดำเนินการ พอดำเนินการทีก็มีการประกาศทุกครั้งก็มีชื่อนายอานันท์ไปพัวพันอยู่ ไปเปิดความสัมพันธ์อยู่เรื่อยกับประเทศคอมมิวนิสต์ แต่มันต้องทำที่สหประชาชาติเพราะเป็นศูนย์ พอกลับมาเป็นปลัดฯ ก็ไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์กับจีน

ทีนี้ไม่พูดเรื่องส่วนตัว หันกลับไปพูดเรื่องของความสัมพันธ์ไทย-จีน สถานการณ์ geopolitic เปลี่ยนไปมาก การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไป ก็เกิดกรณีมายาเกซ (Mayaguez) อันนี้คนอายุต่ำกว่า ๔๐ ก็อาจจะไม่รู้หรือจำไม่ได้ กรณีมายาเกซมีอยู่ว่า ตอนนั้นสงครามที่เขมร ฝ่ายเขมรแดงเพิ่งยึดอำนาจได้ มีเรือสินค้าอเมริกันชื่อ Mayaguez แล่นเข้าไปชายฝั่งเขมรแล้วถูกกองกำลังของเขมรแดงบังคับเข้าจอดชายฝั่ง แถวเกาะแห่งหนึ่งในเขมร อเมริกาก็โมโหมาก สั่งกองกำลังจู่โจมทางอากาศมาพักที่สนามบินอู่ตะเภา ใช้เฮลิคอปเตอร์ลงมือปฏิบัติการจู่โจมจากแผ่นดินไทย หวังว่าจะช่วยชีวิตลูกเรือ ๒๐ - ๓๐ คนกลับคืน การปฏิบัติการนี้ไม่ได้ขออนุญาตรัฐบาลไทย แต่ปรากฏว่าจาก operation (ปฏิบัติการ) นี้ คนอเมริกันที่เข้าไปช่วยตายมากกว่าคนที่อยากจะช่วยออกมา รัฐบาลคึกฤทธิ์ก็ต้องแสดงความโมโหว่า ล่วงล้ำอธิปไตยของไทย ก็เรียกผมซึ่งเป็นทูตที่วอชิงตันตอนนั้นกลับมา เป็นการประท้วง ผมกลับมาผมก็มาเดินเตะฝุ่นเล่น ก็เป็นการประท้วงแบบทางการทูต ไม่ได้มีข้อปรึกษาราชการอะไร ผมกลับมาก็ดีได้ไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ ได้ทานอาหารกันบ้าง เดินไปเดินมา อยู่วันหนึ่งคุณชาติชายก็เรียกเข้าไปในห้องบอกว่า “คุณอานันท์ คุณอานันท์ต้องไปปักกิ่งแล้วนะ ไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์” ผมก็บอกว่า “ท่านรัฐมนตรีช้า ๆ หน่อย ไม่ใช่อยากไปปั๊บก็เดินทางไปได้เลย” ผมก็ถามต่อไปว่า “อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือฮะ” คุณชาติชายบอก “เฮ้ย ไม่ใช่ แต่ท่านนายกฯ คึกฤทธิ์กับผมตกลงกันแล้ว” ผมก็บอกไปว่าอันนั้นผมรับได้ คือแหม… มันไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมติของ ครม. ก็ได้ แต่เมื่อตัวนายกฯ กับตัวรัฐมนตรีต่างประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าต้องเริ่มอันนั้นผมรับได้ แต่ผมก็แปลกคือ เราได้รับการ train (ฝึกฝน) มาให้เป็นนักการทูต เราก็ต้องมองค่อนข้างจะละเอียดหน่อย ดังนั้นผมก็ถามไปว่า แล้วทาง สมช. หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติว่ายังไง ซึ่งตอนนั้นคุณสิทธิ (พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา) เป็นเลขาธิการ สมช. คุณชาติชายก็แบบคุณชาติชายนั่นแหละ ท่านหัวเราะก๊ากบอกว่า “ไปถามมัน มันก็บอกให้ศึกษาต่อไปนะซี ก็ สมช. มันชอบศึกษาอยู่เรื่อย ไม่ต้องทำอะไร คอยเป็นปี ๆ ไม่ต้องไปถาม” ผมก็บอกว่า “ก็แล้วแต่ เพราะท่านก็เป็นกำหนดนโยบาย ท่านก็ต้องรับผิดชอบ” แล้วผมก็บอกว่า”แต่ผมคงยังไปเมืองจีนไม่ได้นะครับ เพราะมันต้องมีการเตรียมกันเสียก่อน” ท่านก็บอก “อ้าวเหรอ เตรียมก็เตรียมไป” ผมก็จะขอตั้งคณะทำงานขึ้นมา ตอนนั้นเอกอัครราชทูต เดช บุนนาค ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยที่วอชิงตันในปัจจุบันก็เป็นหัวหน้ากองตะวันออกไกล เดชนั่นจบจากอังกฤษ จบจาก Oxford รู้เรื่องจีนดีมาก ตอนนั้นเป็นเด็กหนุ่มมีกำลังไฟสูง ทำเรื่องเมืองจีนคนเดียว ไม่ปล่อยให้ใครทำเลย รู้เรื่องจีนอยู่คนเดียว และรู้ดีจริง ๆ เราก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา แล้วก็มีคุณชวาล (ชวาล ชวณิชย์) เป็นเลขาฯ โท อยู่ที่กรมสนธิสัญญา เราก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาก่อน ที่ว่าเราจะไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันนั้นน่ะ จะมีประเด็นอะไรบ้าง และประเด็นต่าง ๆ ท่าทีของเราควรจะเป็นยังไง พอทำเสร็จเรียบร้อยก็เสนอให้ท่านรัฐมนตรีทราบ แล้วผมก็มีหนังสือ มีโทรเลข สมัยนั้นยังไม่มีแฟกซ์น่ะฮะ มีโทรเลขเข้าโค้ดสุริยาส่งไปที่นิวยอร์ก ถึงท่านเอกอัครราชทูตหวงหัวว่า รัฐบาลไทยมีดำริที่จะเริ่มเปิดเจรจา เพื่อเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ทางจีนพร้อมจะรับผู้แทนไทยที่ปักกิ่งไหม รออยู่ ๓ - ๔ วัน ก็ได้รับคำตอบมาว่าพร้อมที่จะรับ ผมก็รีบส่งสำเนาร่างแถลงการณ์ของเราไปให้ฝ่ายจีนรับทราบไว้เสียก่อน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ตอนนั้นจีนเขาไม่พูดถึงคำว่า “เปิดความสัมพันธ์ทางการทูต” เขาไม่พูดถึงคำว่า “establishment” เขาจะใช้คำว่า “ฟื้นฟูความสัมพันธ์” คือ “restoration of diplomatic relations” นี่ก็ย้อนไปถึงสิ่งที่ผมพูดเมื่อเริ่มต้นว่า เขาไม่ถือความสัมพันธ์ทางการทูตมันขาดไปมันเพียงแต่ว่าตอนนั้นมันเปลี่ยนไปอยู่กับก๊กมินตั๋ง เมื่อก๊กมินตั๋งตกทะเลไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน มันก็ข้ามทะเลไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน พอเราจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน มันก็จะข้ามทะเลจากเกาะไต้หวันมาอยู่ฝั่งกรุงปักกิ่ง เพราะฉะนั้นสมัยนั้นจะเรียก “restoration” ไม่ใช้คำว่า “establishment” คือ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์” แล้วพวกผมก็เดินทางไปนอกเหนือจากคุณชวาล คุณสุจินดา เดช แล้วก็มีอีกคนหนึ่งคือ คุณธนิต (ธนิต อัครสุต) ธนิตอยู่กรมเอเชียบังเอิญท่านเสียชีวิตไปเมื่อสัก ๒ - ๓ ปีมานี้ ก็มุ่งไปปักกิ่งเดินทางไปที่ฮ่องกงก่อน มีคนที่ไม่เคยรู้ว่าสมัยก่อนไปเมืองจีนนั้นจะไปยังไง ถึงฮ่องกงไปค้างหนึ่งคืน ตอนเช้าไปจับรถไฟ นั่งรถไฟไปจนถึงพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับก่วงตง พอถึงพรมแดนก็ต้องเปลี่ยนจากรถไฟอังกฤษหรือรถไฟฮ่องกงเป็นรถไฟจีน พอขึ้นรถไฟจีนก็เห็นทหารหรือคนที่แต่งตัวคล้ายทหารเต็ม เสียงดนตรีก็เป็นดนตรีแบบที่เมืองไทยมีปฏิวัติรัฐประหาร ที่ไหนก็จะเปิดมันเป็น “marching music” (เพลงมาร์ช) ระหว่างนั่งรถไฟก็เสิร์ฟชาจีนไปเรื่อย ๆ ไปค้างที่กว่างโจว ไถึงกว่างโจวก็เจอรถไฟอีก ขบวนหนึ่งมาจากปักกิ่งหรือมาจากไหนไม่ทราบ ก็เจอคณะของคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นคณะปิงปอง เพราะก่อนหน้านั้นมี “การทูตปิงปอง” “การทูตน้ำมัน” อะไรมากมาย หลังจากนั้นก็บินไปปักกิ่ง พอถึงปักกิ่ง สนามบินก็เล่นดนตรีทหาร ก็ไปอยู่โรงแรมชื่อ “Peace Hotel” ก็ไปอยู่กัน ๕ คน สองวันแรกเขาเก็บเราไว้เฉย ๆ เขาไม่บอกอะไรเลย ไอ้เราก็คอยว่าเมื่อไรเขาจะมาเรียกเราไปประชุม แต่ก็ไม่มา แต่พอวันที่สามพอเริ่มต้นก็ไปได้ดี

ผมจะไม่พูดถึงว่าประเด็นของการเจรจามันมีอะไรบ้าง แต่อย่างหนึ่งหลักใหญ่ ๆ ก็คือว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับ “หลัก ๕ ประการของการอยู่ร่วมกัน” คือ หลัก ๕ ประการที่ประกาศตั้งแต่สมัย Bandung Declaration (คำประกาศบันดุง) ซึ่งขณะนั้นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเราก็ยอมรับแล้ว ประเด็นก็คือการยอมรับหลัก ๕ ประการนั้นในทางทฤษฎีมันมีมานานแล้ว แต่ไม่เชื่อว่าในทางปฎิบัติจะทำจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะในเรื่องการเคารพในเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน ไม่ว่าจะในเรื่องของการไม่แทรกแซงกิจการภายใน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมันอยู่ที่ผลปฏิบัติ ทางด้านจีนก็มีอยู่อย่างเดียวว่า เราต้องยอมรับว่า มีจีนประเทศเดียว หลักการว่า “One China” ซึ่งก่อนหน้าเราไป ฟิลิปปินส์ก็ยอมรับแล้ว และใครที่ไปเจรจาต้องยอมรับอันนี้ และจริง ๆ แล้ว ในอดีตไม่ว่าจะเป็นจีนปักกิ่งหรือจีนไต้หวัน ความเห็นหรือนโยบายแตกต่างกันทุกประเด็นแต่เรื่องนี้เขามีความเห็นเหมือนกัน สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยคือว่า ถ้าบอกว่ามี “One China” ปักกิ่งก็บอกว่า ปักกิ่ง คือ “China” เท่านั้น ไต้หวันก็บอกว่าฉันคือ “China” เท่านั้นแหละ ที่แตกต่างกันว่ามันอยู่ที่ไหนกันแน่ ฉะนั้นไอ้นี้ไม่ใช่เป็นของยากอะไร อันที่สำคัญคือว่าถ้าเรารับรองว่าปักกิ่งเป็นตัวแทนจีนหรือมี “One China” แล้ว เราไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็น “ทางการ” กับไต้หวันได้ มีสถานทูตก็ไม่ได้ หน่วยงานที่จะไปอยู่ต้องเป็นหน่วยงานเอกชน เราก็ไปแอบแฝงกับบริษัทการบินไทยก็ได้ ทางไต้หวันก็มาแอบแฝงตั้งหน่วยงานอะไรขึ้นมา อีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า จีนเขาย้ำว่า เขาไม่ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า dual nationality (สัญชาติคู่) ซึ่งอันนี้มีความสำคัญทางจิตใจของเมืองไทยมาก เพราะตอนเราไปเราก็ถูกโจมตีว่าเราซ้ายเราอะไรต่าง ๆ เราจะเชื่อได้ยังไงว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในเมืองไทยนั้น เป็นคนไทยที่ดี และมีความจงรักภักดีกับเมืองไทย อันนี้ก็เป็นการทูตที่ดีในทางทฤษฎี แต่จริง ๆ ในทางปฏิบัติเราก็ต้องดูก่อนว่าจีนจะทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ยังมีการพูดถึงการไม่แทรกแซงกิจการภายในต่าง ๆ จีนก็ต้องลดบทบาทของตนเองในการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในการโจมตีทางวิทยุอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทางจีนเขาก็ต้องมองว่าทางเราจริงใจหรือเปล่า เราบอกว่ามีจีนเดียว แล้วเราจะไม่มีความสัมพันธ์ทางราชการกับไต้หวัน แล้วเราจะแอบส่งรัฐมนตรีคนนั้นไปเยี่ยมไต้หวันหรืออะไร เขาก็ต้องดู ต่างคนต่างอยู่ในระยะที่ต้องดูแลจิตใจกันว่า มีความจริงใจในเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า ต่อมาก็ปรากฏว่า ความจริงใจมันก็เกิดขึ้น สำหรับเมื่องไทยเองก็ทำให้ปัญหาการสู้รบ และจนกระทั่งบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหมดไป แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองแล้ว ซึ่งผมพูดมานานแล้ว สมัยนั้นผมพูดที่ไหนก็ถูกมองว่าไอ้นี่ซ้าย ผมโดยส่วนตัวผมไม่เคยคิดเลยว่าจีนเป็นศัตรูเป็นปีศาจ หรือเป็นอริของเมืองไทย และผมก็ไมเคยเชื่อซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าอันนี้พูดไปแล้วอันตรายแค่ไหน แต่ปัจจุบันคงไม่เป็นอะไรแล้ว เพราะมีเกราะอดีตนายกฯ หุ้มคุ้มกันอยู่ ผมไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะบุกรุกยึด ๑๖ จังหวัดของเมืองไทย ผมอยากให้พวกนักประวัติศาสตร์ดูข้อเท็จจริงแล้วพยายามวิเคราะห์ว่าความจริงมันอยู่ที่ไหน ถ้าเผื่อผมผิดผมก็อยากรู้ว่าผมผิดตรงไหน และตั้งแต่ไหนแต่ไรผมไม่เคยมองจีนในแง่ว่าจะแผ่อิทธิพลมาเอาเราเป็นเมืองขึ้น จริง ๆ แล้วการแผ่อิทธิพลนะมี ทุกมหาอำนาจต้องการแผ่อิทธิพล แต่ผมก็ไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะยึด ๑๖ จังหวัดของเมืองไทย และแม้แต่สิ่งที่เราเรียกว่าคอมมิวนิสต์ในเมืองไทย ผมก็ไม่เคยเชื่อ อาจจะมีอยู่ไม่กี่คนที่ว่าเป็น Marxist เป็นอะไรต่าง ๆ แต่พวก Marxist ทางด้านวิชาการก็ไม่สามารถเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดีได้ ได้แต่พูด ผมเคยพบพวก ๑๔ ตุลา และพวก ๖ ตุลา ที่เข้าป่า พวกนี้บอกว่าพวกเขาไม่ต้องรบอะไรเลย พวกเขาเข้าไปในป่านี่ไปทำความหนักใจให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงของเมืองไทย “พวกเขาต้องคุ้มกันเราอยู่เรื่อย พอเขารู้ว่าจะรบที่ไหนจะถูกโจมตีที่ไหน พวกเขาจะรีบต้อนพวกเราไปอยู่ที่อื่นไปอยู่ที่ปลอดภัย” เพราะฉะนั้นในการที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย หรือที่เราเรียกว่า querrilla (กองโจร) ของเมืองไทยสู้รบแพ้ไปนี้ หรือยอมจำนนนี่ พวกนักคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย นักทฤษฎีจากธรรมศาสตร์ไปอยู่ป่า ทำให้พวกคอมมิวนิสต์ปั่นป่วนไปหมด สร้างภาระให้เขา ภาระเขาก็มากอยู่แล้ว เขาต้องมาหาของกินให้ พวกนี้ไปถึงไม่รู้จักทำอะไรเลย เขาก็ต้องช่วยไปเป็นพี่เลี้ยง สิ่งเหล่านี้ผมว่านักประวัติศาสตร์ นักศึกษา ผมว่าน่าจะตรวจดูนะว่า อันนี้ผมไม่ได้หมายความว่าในประเทศจีน ผมไม่แน่ใจ อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งหรือคนหลายคนที่ต้องการเอาไทยเป็นเมืองขึ้น ในเวียดนามเองก็อาจมีคนกลุ่มหนึ่งหรือคนเล็กน้อยที่ต้องการบุกเข้ามายึด ๑๖ จังหวัดของไทย แต่ที่ผมอยากจะรู้น่ะ ตอนนั้นรัฐบาลแต่ละรัฐบาลในขณะนั้นต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะเราได้ฟังแต่ข่าวชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา

พอเจรจาเสร็จก็รีบกลับมาเมืองไทย จีนเขาจัดให้บินมากว่างโจว จากกว่างโจวนั่งรถมาเลย ผ่านลุ่มดอนผ่านแม่น้ำซึ่งไม่มีสะพาน ต้องนั่ง ferry (แพข้ามฟาก) ตัดคิวอยู่เรื่อย ตำรวจ security (รักษาความปลอดภัย) จีนก็ชอบกดแตร กดไล่รถ กดไล่คันอื่นตลอดเวลา พอมาถึงชายแดนฮ่องกง ทางกงสุล มนัสพาสน์ (มนัสพาสน์ ชูโต) ก็กรุณาให้ทางการอังกฤษเอาเฮลิคอปเตอร์ไปรับที่พรมแดน จากเฮลิคอปเตอร์มาที่สนามบินไคตั๊ก แล้วก็ขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย ขึ้นเครื่องคืนนั้นคืนวันอาทิตย์ วันจันทร์ทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรี จะผ่าน สมช. หรือเปล่าอันนี้ผมจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือนผ่าน ต้องไปอธิบายให้เขาฟัง ผมต้องไปเองและตอนนั้นท่านนายกฯ คึกฤทธิ์ กับคุณชาติชายนั่งอยู่ด้วย ผมก็ปลอดภัยหน่อย แต่ใน สมช. ก็อาจมองว่า นายอานันท์นี่ ไอ้นี่มันซ้ายยิ่งขึ้น ๆ

พอ ครม. มีการตกลงรับแถลงการณ์ร่วมที่ลงชื่อไว้ ทางการจีนก็บอกว่าขอเชิญท่านนายกฯ คึกฤทธิ์ไป ก็จัดไปอาทิตย์หนึ่ง ไปลงนามวันที่ ๑ กรกฎาคม (๑๙๗๕) แล้วก็พาไปเที่ยว แต่ตอนนั้นนายกฯ โจวเอินไหลก็เริ่มเจ็บเป็น cancer ก็ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ท่านเติ้งเสี่ยวผิงเป็นรักษาการ ท่านประธานเหมาสุขภาพค่อนข้างจะโทรมมาก มีเกร็ดที่คุณคึกฤทธิ์เคยเล่าไว้ตอนไปเยี่ยมประธานเหมา ท่านประธานเหมาก็บอกว่าท่านนายกฯ คึกฤทธิ์มาเมืองจีนนี่ไม่กลัวหรือ “มาจับมือกับฉัน เขาว่ากันว่า ใครก็ตามมาจับมือกับฉันกลับไปแล้วพังทุกคนอย่างประธานาธิบดีนิกสันก็พังไปแล้ว” ท่านนายกฯ คึกฤทธิ์บอกว่าไม่กลัว แต่ผมเข้าใจว่าพอกลับมาไม่กี่เดือนท่านนายกฯ คึกฤทธิ์ก็พังเหมือนกัน

พูดถึงการเดินทางที่เมืองจีนไปจุดสุดท้ายที่คุนหมิง คุนหมิงเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้วไม่มีอะไรเลย ไปอยู่บ้านพักรับรอง เดี๋ยวนี้บ้านพักรับรองก็ยังอยู่ ผมไปคราวที่แล้ว Governor (ผู้ว่าราชการมณฑล) เขาก็เชิญไปทานเลี้ยงรับรองที่ตึกแห่งหนึ่ง มีคนบอกว่านี่อธิบดี ชื่ออะไรไม่รู้จำไม่ได้แล้ว ผมมีปัญหาเรื่องภาษาจีนเพราะลิ้นทำกลมไม่ค่อยเป็น อย่างไรก็ตาม ผมพาไปชี้ให้ดูบอกว่า ผมเคยอยู่ที่นี่ เมื่อคุณคึกฤทธิ์ไปถึงวันแรกก็เหนื่อย เขาก็เอาอาหารจีนเอาอาหารอะไรต่าง ๆ มาเลี้ยง ท่านคึกฤทธิ์ท่านเป็นคนชอบทานอยู่แล้ว ท่านทานไปท่านก็บอกว่าไอ้นี่น้ำพริกอ่อง คือ ท่านคึกฤทธิ์เคยใช้ชีวิตอยู่ลำปางมาก่อน เพราะฉะนั้นท่านรู้อาหารทางภาคเหนืออย่างดี ทางคุนหมิงก็อาจจะรู้มาก่อนก็เลยเตรียมอาหารหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับอาหารที่ท่านคุ้นเคย เคยทานที่ลำปางหรือเชียงใหม่ เราทุกคนก็รู้ว่าเรื่องสิบสองปันนา และเรื่องเชียงรุ่งในมณฑลยูนนาน ความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจมันก็มีมานาน คุณคึกฤทธิ์ก็บอกเลยคืนนั้นว่า พรุ่งนี้เช้าผมจะเอาธงไทยไปปักหน้าบ้านพักรับรอง แล้วประกาศว่าคณะของเรามาปลดแอกมณฑลยูนนานออกจากจีนแล้ว เรามาเรียกร้องดินแดนกลับคืนไป อันนี้เป็นเกร็ดอีกอันหนึ่ง

พอกลับมาเมืองไทยตอนนั้นก็ถูกโจมตีมาก ผมก็กลับไปอเมริกาอยู่ร่วมสมัยประชุมของสหประชาชาติพักหนึ่ง ปลายปีกลับมาเป็นปลัดฯ วันที่ ๑ มกราคม ๑๙๗๖ มาเป็นปลัดฯ ท่านนายกฯ คึกฤทธิ์กับคุณชาติชายก็ดำเนินเรื่องต่อมา นอกจากฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศจีนแล้วเราต้องปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นนโยบายที่ถูกต้อง จะเริ่มที่ไหนก่อนก็ต้องเริ่มที่เวียดนาม แต่มาคิดดูอีกทีแล้วไม่ได้ แม้ว่าเวียดนามจะใหญ่กว่าแล้วก็มีอิทธิพลเหนือลาว เหนือเขมร แต่ถ้าเผื่อเราไปเวียดนามก่อนแล้วมาตกลงกับลาวทีหลัง อันนี้คุณชาติชายบอกว่าไปลบหลู่ลาวเขา แต่เผอิญเสร็จแล้วพอจะทำจริง ๆ ก็ไม่ได้ทำ ไปทำตอนสมัยคุณพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ สรุปว่าพอกลับมาตอนนั้นทั้งนายกฯ คึกฤทธิ์และคุณชาติชายก็คิดว่าต้องไปทำกับลาวกับเวียดนาม แต่อยู่ไม่ทัน เพราะผลกระทบจากการไปคบค้ากับจีน แล้วคนไทยก็แบบ… ซื่อบื้อนิดหน่อยนะ คือคิดว่า ถ้าเราไปคบค้ากับจีนเราจะต้องไปตัดกับอเมริกา คิดว่ามีเพื่อนสองคนไม่ได้ ต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง มันก็เลยทำให้มองไปว่าใครก็ตามที่มีส่วนในการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ๑. ไม่ชอบอเมริกา หรือ ๒. อเมริกาไม่ชอบพวกนี้ ทหารไทยตอนนั้นก็ได้รับประโยชน์จากการที่มีกองทัพอเมริกามาอยู่มาก นักการเมืองไทยก็ได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ คนที่ได้อานิสงส์จากการที่อเมริกามาอยู่เมืองไทยนี่ค่อนข้างจะมาก รวมทั้ง Thai Guards (คนไทยที่เป็นยามรักษาการณ์ให้หน่วยงานของสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติการอยู่ในไทยในสมัยสงครามอินโดจีน) ด้วย จำได้มั้ยสมัยนั้น พลอากาศเอกทวี (พล.อ.อ. ทวี จุลทรัพย์) ดูแลเรื่อง Thai Guards อยู่ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนผมจำได้ว่าประมุขของประเทศจีนเขาเสียชีวิตไป คือใน hierachy ของจีนเขาไม่ได้บอกว่าเป็นประธานาธิบดี เพราะเขาไม่มีตำแหน่ง President อาจใช้ชื่อว่า Chairman ของ Standing Committee อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราดูในสารบัญของจีนแล้วเราก็รู้ว่าคนคนนี้คือประมุขของประเทศ แล้วกระทรวงการต่างประเทศก็บอกรัฐบาลว่าต้องลดธงครึ่งเสา ๓ วัน ผมยังจำได้ว่า ผมยังจำได้ว่า คุณสมัคร สุนทรเวช ด่ากระทรวงการต่างประเทศใหญ่ บอกไอ้พวกนี้โง่เง่า เขาไม่ได้เป็นประมุข ไม่ได้เป็น President นี่มันประจบ มันสอพลอ มันเอาใจจีน กระทรวงการต่างประเทศถูกด่าหมด อุทาน สนิทวงศ์ฯ ทมยันตี ดร. อุทิศ ที่เล่นระนาดเก่ง โอ๊ย… แม่บ้านเยอะเแยะก็สร้างความรู้สึกให้คนไทยว่าไอ้พวกนี้มันเลวร้าย ไอ้พวกนี้มันคือลูกน้องของปีศาจเหลือง อะไรต่าง ๆ มันไปคบค้ากับจีน คุณแม่ผมพอได้ข่าวมาว่าผมจะไปเป็นทูตที่เมืองจีน เพราะว่าผมไปเปิดความสัมพันธ์และว่าจีนเขาชอบมาก อะไรต่าง ๆ วันหนึ่งท่านเรียกผมไป “นี่ลูก ถ้ากระทรวงเขาจะส่งลูกไปเป็นทูตที่จีนนะ แม่ให้ลูกลาออก เรามีเงินพอ ลูกไม่ต้องไปพึ่งราชการ” ผมก็ว่า “ทำไมล่ะคุณแม่” เริ่มต้นคือ เขาไม่ส่งผมไปเมืองจีน แต่ถ้าส่งทำไมจะให้ผมออก แม่บอกว่า “แม่เกลียดคอมมิวนิสต์ แม่เกลียดจีน เขาบอกว่าที่เมืองจีนเอาคนแก่ไปทำปุ๋ยหมด” นี่คือความรู้สึกของคนไทยจากการที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อมาเป็นเวลาช้านาน อยากจะให้เข้าใจว่าปัญหาและอุปสรรคทั้งทางด้านปฏิบัติและทางด้านทฤษฎีมีมาก ตอนนี้พอมองย้อนหลัง ๒๕ ปีที่ผ่านมา มันคุ้มไหม? กับการที่ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกปลดจากปลัดฯ ถูกสอบสวนอยู่ ๔-๕ เดือน ทางกระทรวงเขาว่าจะส่งผมไปเป็นทูตที่ลอนดอน คุณอุปดิศร์ (อุปดิศร์ ปาจริยางกูร) บอกผม แต่ทางคุณธานินทร์ (ธานินทร์ กรัยวิเชียร) บอกว่าไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่บอกว่าไม่ได้ ขืนไปอยู่ลอนดอนเดี๋ยวจะไปคบกับ ดร. ป๋วย (ดร. ป๋วย อิ๊งภากรณ์) ปลุกระดมคนไทย ผมก็เลยต้องไปอยู่เยอรมนี เพราะนักเรียนไทยน้อยหน่อย เพราะนักเรียนไทยก็มีอย่าง คุณมนตรี (มนตรี พงษ์พานิช) ผมคงปลุกระดมไม่ได้

พอเห็นเราซ้าย ๆ มาก ๆ มันก็เกิด ๖ ตุลาขึ้น ก่อนหน้านั้นก็มีการตกลงกันว่าจะส่งเพื่อนผม ม.ร.ว. เกษมสโมสร (ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี) นักการทูตอาวุโสของกระทรวง และเป็นทูตมาหลายแห่ง สุดท้ายไปเป็นทูตที่จากาตาร์ อินโดนีเซีย ก็เหมาะสมที่สุดที่ได้ไปเป็นทูตประจำประเทศจีน แต่พอไปอยู่ได้สักพักไม่เท่าไรก็เกิด ๖ ตุลา รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นมา ก็เรียกตัว ม.ร.ว. เกษมสโมสรกลับมา แล้วบอกว่าตอนนี้นโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนไปแล้วน่ะ สมัยก่อนนั้นคบค้าจีนเปิดความสัมพันธ์ แต่มาสมัยนี้ท่านทูตก็อยู่ที่เมืองจีนต่อไป แต่ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยน่ะ อันนี้ก็ไม่เป็นไรก็ดี เพราะฉะนั้น สมัยนั้นท่านทูตเกษมสโมสรก็คงทำอะไรได้หลายอย่าง โดยไม่ต้องคำนึงว่ารัฐบาลสั่งหรือไม่สั่ง เป็นระยะหนึ่งที่เกิดอุปสรรคทางด้านปฏิบัติ แต่หลังจากนั้นความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดีมาตลอด

เรามองย้อนหลัง ๒๕ ปีนี่ ผมว่าน่าทึ่งน่ะ ที่ว่าคนอย่างท่านสิทธิ เศวตศิลา ก็ดี คุณประสงค์ สุ่นศิริ หรือแม้แต่คุณสมัคร สุนทรเวช ในเรื่องของจีนนี่ โดยเฉพาะคุณสิทธิ บอกได้แน่นอน โดยเฉพาะตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศท่านก็เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีนมาก ผมว่าความระแวงอะไรก็หมดไป คนอื่น ๆ ก็แทบจะเรียกได้ว่าหมดไปเลย ผมแน่ใจว่าทางด้านจีนก็คงมีผู้นำที่มีอคติกับเมื่องไทยค่อนข้างจะมากมายก็คงหมดไป ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนการเยือนประเทศของผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ผมว่าถึงระดับสุดยอด ปีนี้เป็นปีที่ ๒๕ ที่ทั้งคนไทยแลคนจีนจะต้องมีความภาคภูมิใจร่วมกันเป็นที่สุดว่า ในปีที่ ๒๕ นี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงตอบรับการไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการแล้ว ผมว่าไม่ได้ไปในฐานะองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ แต่ผมว่าคงไปในฐานะผู้แทนพระองค์ประมุขของประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์ที่รับรองได้อย่างไม่มีเงื่อนไข หรืออย่างไม่สามารถจะกลับเป็นอื่นได้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของระดับรัฐบาล ระดับราชการ ระดับประชาชน มันจะยั่งยืนต่อไป และอันนี้ผมว่ามันจะเป็นหัวใจ เป็น key เป็นกุญแจของการที่จะรักษาเสถียรภาพระหว่างไทยกับจีน

ผมอยากจะมองไปในอนาคตว่าอะไรบ้างที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนระหว่างไทยกับจีนได้รับความกระทบกระเทือนในทางลบ ผมมองดูหมดแล้ว แทบไม่มี แน่ละ แต่ละประเทศประเด็นขัดแย้งกันก็ต้องมีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้า ปัญหาอะไรต่าง ๆ อะไรจะเป็นตัวแปรที่จะทำให้ความสัมพันธ์นี้มันเปลี่ยนทิศทาง ผมมองว่าไม่มี และผมมองว่าในแง่ของเรานี้ จีนเขามองเห็นความสำคัญของไทยในเรื่องของจุดยุทธศาสตร์มาก location หรือที่ตั้งของเมืองไทยก็ดี ความสนิทสนมทางด้านจิตใจ ทางสายเลือด ซึ่งเขาไม่สามารถมีได้กับประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ อย่างมาเลเซีย อย่างอินโดนีเซีย หรืออย่างสิงคโปร์ และอย่างที่สองก็คือ เรามีขนาดใหญ่พอ มีพลกำลัง และมีทรัพยากรใหญ่พอ เราต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า ทุกมหาอำนาจยังต้องการมี presence (การปรากฏตัว) คำว่า “presence” ในที่นี้ไม่ใช่ทาง physical (กายภาพ) เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีกำลังทหาร แต่ต้องการมี presence ไม่ว่าจะผลประโยชน์ทางด้านการค้าหรืออะไรในภูมิภาคนี้ ปัญหาคือ ในอนาคตนี้จะมีการจัดการเรื่อง presence ได้อย่างไรระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาไม่มีโอกาสจะกลับมามี military presence ในภูมิภาคนี้ได้ เพราะฉะนั้นทำให้จีนมีความสบายใจ เพราะจีนก็ไม่เคยคิดที่จะส่งทหารมาอยู่ประเทศแถวนี้ ในอดีตปัญหาเกิดขึ้นว่า เวียดนามกำลังจะมอบฐานทัพเรือให้กับสหภาพโซเวียตอยู่ที่ดานัง ตอนนั้นสหภาพโซเวียตยังเป็นมหาอำนาจระดับโลกอยู่ ตอนนั้นยังจำได้ว่ามีกองทัพเรือโซเวียตมาเยี่ยมเวียดนามอยู่เสมอ ถ้าสหภาพโซเวียตมามี shade (เงา) ในเวียดนามได้เมื่อไร ไอ้ตัวแปรตัวนั้นจะสำคัญมาก ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนอยู่ในขึ้นวิกฤต ปัจจุบันนี้ เนื่องจากสหภาพโซเวียตไม่ใช่สหภาพโซเวียตแล้ว เป็นแค่รัสเซียเฉย ๆ ไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งกองทัพเรือ ที่จะมาเพ่นพ่านอยู่แถวนี้ โอกาสที่จะมามี “Soviet presence” ในเวียดนาม ในทางที่จะเป็นทางลบกับจีนมันไม่มี เพราะฉะนั้นตัวแปรอันนี้หมดไป ดังนั้นภูมิภาคนี้ผมคิดว่ามันจะยังมีสันติภาพต่อไป ปัญหาเกาหลีก็คลี่คลายไปในทางที่ดี ส่วนปัญหาไต้หวันผมว่าขออย่างเดียวหยุดพูดกันเสียหน่อย ผมว่าประธานาธิบดีไต้หวันคนที่แล้วนั้นพูดมากไป นอกจากพูดมากเกินไปแล้ว ผมคิดว่ายังทำหลายอย่างที่เป็นการยั่วเย้าฝ่ายจีนมากเกินไป มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประเทศที่เขามีความเคารพในตัวเอง ประเทศที่เป็นอธิปไตย จะบอกมาว่าถ้าเผื่อมณฑลไหนหรือจังหวัดไหนจะพยายามแยกตัวออกไป เขาจะไม่ใช้กำลังปราบ ถ้าเผื่อวันหนึ่งอะแลสกาบอกว่าฉันไม่เคยอยู่ใต้อเมริกา แกไปซื้อฉันมาจากรัสเซีย จึงขอประกาศอิสรภาพ อเมริกาก็ต้องใช้กำลังปราบหรือถ้าฮาวายบอกว่าคุณจำได้ไหมธงฮาวายยังมี Union Jack อยู่น่ะ และฮาวายไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเลย ซึ่งผิดกับไต้หวัน ถ้าเผื่อฮาวายบอกพวก native (ชาวพื้นเมือง) บอกว่าฉันไม่อยากขึ้นกับอเมริกา แล้วอเมริกาจะไม่ใช้กำลังหรือ? มันเป็นไปไม่ได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเขาจะใช้จริงหรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันก็ออกมาพูดซึ่งผมว่าพูดได้ดีมาก และของจีนก็เริ่มมีการอะลุ้มอล่วยกันแล้ว คือบอกว่า เขาจะใช้ในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเดียวคือ ไต้หวันประกาศอิสรภาพ อันนี้เป็นการปรับคำพูด ผมว่าปัญหาไต้หวันไม่ใช่เป็นปัญหาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัญหาภายในของสหรัฐอเมริกา และเป็นปัญหาภายในของจีน แต่เป็นปัญหาภายในของสหรัฐอเมริกามากกว่าปัญหาของจีน ปัญหาภายในของจีนง่าย คือไม่มีรัฐบาลจีนปักกิ่งใด ๆ ที่จะสามารถเสียไต้หวันไปได้ แต่ส่วนปัญหาภายในของสหรัฐอเมริกามีความยากลำบากมากขึ้น เพราะว่ามันเกิดเป็นพันธมิตรที่ไม่ใช่พันธมิตรธรรมชาติ คือ พวกสหภาพแรงงานพวกปีกขวาจัดของพวก Republican พวกพรรค Democratโดยเฉพาะพวกสมาชิกสภาผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง โดยอาศัยการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน พวกสิทธิมนุษยชน พวกสิ่งแวดล้อม และพวกที่เกลียดคอมมิวนิสต์ตลอดกาล และต้องหาศัตรูให้ได้ครึ่งหนึ่งมันง่าย ศัตรูมันเยอะ สหภาพโซเวียต จีน เกาหลีเหนือ ตอนนี้ศัตรูมันน้อยลง ๆ ไป เพราะฉะนั้น ตอนนี้พวกนี้ก็ต้องหาศัตรูใหม่ เพื่อพยายามจะสร้าง containment policy (นโยบายสกัดกั้น) อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ ผมว่าลีกวนยูพูดดีมาก บอกว่าเป็นการทารุณเหลือเกินที่ไปทำให้พวกไต้หวันรู้สึกว่า สักวันหนึ่งเมื่อเขาประกาศอิสรภาพเมื่อไร เขาจะได้รับความคุ้มครองหรือความช่วยเหลือจากอเมริกา เราต้องรู้ว่าความเป็นไปได้ในทศวรรษนี้ต่ำมาก ที่อเมริกาจะทำการสู้รบเพื่อประเทศอื่น มองให้ออกว่าเขาทิ้งเวียดนามได้ และเขาทิ้งด้วยเหตุผลที่ดีด้วย ดังนั้นจะให้เขาไปสู้รบเพื่อเอกราชของไต้หวันเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ถ้าจะมองถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนก็ดี หรือเหตุการณ์ใดในภูมิภาคที่จะส่งผลกระทบต่อสันติภาพ และเสถียรภาพ ผมว่าน้อยมาก เกาหลีก็ดี ผมว่าขณะนี้ ethnic spirit (ความรู้สึกที่ผูกพันกันทางเชื้อชาติ) ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ดีมาก พอมองสัมพันธภาพระหว่างไทยกับจีน ผมมองแล้วสบายใจ และมีความสบายใจมากขึ้นที่ว่า ในปัจจุบันนี้เราสามารถเอานักวิชาการ นักการทูต คนที่เป็นอดีต ๆ ทั้งหลาย มานั่งรำลึกความหลังกันที่นี่ คิดถึงประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง ทั้งบวกและทั้งลบ เราความพยายามหาว่าความจริงมันอยู่ที่ไหน ตัวเราเองเราจะรู้ว่าความสมดุลมันจะอยู่ที่ไหนด้วย ขอบคุณมากครับ

หมายเหตุ: บทความนี้ได้มาด้วยการถอดเทป ด้วยการรักษาศัพท์และสำนวนคำพูดเดิมขององค์ปาฐกเอาไว้ เฉพาะที่อยู่ในวงเล็บนั้น บรรณาธิการเติมลงไป เพื่อให้คนเข้าใจในวงกว้างยิ่งขึ้น